เส้นทางประชาธิปไตยในกัมพูชา
Cambodia Future ประจำวันที่ 22 กรกฎาคม 2556
ในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ประเทศกัมพูชา หนึ่งในสมาชิกอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญของไทย กำลังจะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งสำคัญเกิดขึ้น ตลอดสัปดาห์นี้เรามีรายงานพิเศษเกี่ยวกับการเลือกตั้งในกัมพูชามานำเสนอ โดยวันนี้ เริ่มกันที่ เส้นทางประชาธิปไตยของกัมพูชา ตั้งแต่อดีตว่าเป็นมาอย่างไร และมีความน่าสนใจมากเพียงใด
ถ้านึกถึงประเทศกัมพูชา เพื่อนบ้านของไทยเราก็จะนึกถึงอารยะธรรมอันรุ่งเรืองของอาณาจักรขอมในอดีต แต่ประวัติศาสตร์การเมืองของกัมพูชา ก็มีความสนใจไม่แพ้กัน ทั้งหกล้มคลุกคลาน หรือราบรื่นบางครั้งบางครา วันนี้จะย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยในกัมพูชา คงจะเป็นช่วงหลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชโดยสมบูรณ์จากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสแล้ว ภายหลังจากที่พ่ายแพ้การสู้รบต่อกองทัพเวียดมินห์ ที่เดียนเบียนฟู ในปี 2497
การเมืองการปกครองตามหนทางประชาธิปไตยของกัมพูชา เริ่มต้นภายใต้การนำของเจ้านโรดม สีหนุ ซึ่งเป็นทั้งนายกรัฐมนตรี และประมุขของรัฐไปพร้อมกัน ซึ่งดูเหมือนจะราบรื่น แต่สถานการณ์โลกในสภาวะที่สงครามเย็นตึงเครียดทำให้เศรษฐกิจและสังคมกัมพูชาถึงจุดตกตํ่าที่สุด รวมทั้งท่าทีทางการเมืองของเจ้านโรดมสีหนุ เอนเอียงไปทางฝ่ายจีน และสหภาพโซเวียต ทำให้การเมืองในระบอบประชาธิปไตยสิ้นสุดลง หลังการรัฐประหารในปี 2513 ที่นำโดยนายพลลอน นอล ซึ่งมีสหรัฐฯและซีไอเอสนับสนุน
การรัฐประหารในปี 2513 ได้ทำให้กัมพูชากลายมาเป็นสาธารณรัฐ และกระโจนเข้าสู่สงครามเวียดนามเต็มรูปแบบ โดยสหรัฐฯได้ส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีกัมพูชาในเส้นทางโฮจิมินห์ เพื่อสกัดกั้นการเดินทัพของเวียดนามเหนือ และเจ้านโรดมสีหนุ ก็ได้เข้าร่วมกับขบวนการเขมรแดงในที่สุด
ภายหลังพ่ายแพ้ในสงครามเวียดนาม ประเทศในอินโดจีนทั้ง 3 ประเทศคือ เวียดนาม ลาวและกัมพูชา กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ กัมพูชาก็ตกอยู่ภายใต้การปกครองที่โหดร้ายที่สุดของเขมรแดง ซึ่งได้ทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาด้วยกันเอง หรือที่เรียกว่าทุ่งสังหาร โดยการเกณฑ์แรงงานมาทำนา และสังหารประชาชนไปกว่า 2 ล้านคน
การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขมรแดงที่ดำเนินมานานถึง 4 ปี ถึงจุดสิ้นสุดเมื่อกองทัพเวียดนามเข้าแทรกแซงในปี 2521 ภายหลังจากการเกิดปัญหาเรื่องพรมแดน และรวมไปถึงการแปรพักตร์ของเขมรแดงบางส่วน ทางเวียดนามก็ได้ตั้งรัฐบาลหุ่นเชิดขึ้นมาคือรัฐบาลเฮงสัมริน ซึ่งทำให้กัมพูชาเข้าสู่ยุคที่เกิดความวุ่นวายทางการเมืองมากที่สุดยุคหนึ่งนั่นคือ ยุคของเขมร 3 ฝ่าย ที่เป็นการแย่งชิงอำนาจกันระหว่างแนวร่วมเขมร 3 ฝ่าย คือ กลุ่มเจ้าสีหนุ กลุ่มเขมรแดง และเขมรเสรีหรือซอนซาน กับเขมรเฮงสัมรินที่มีเวียดนามสนับสนุน
สภาวะทางการเมืองดังกล่าวทำให้กัมพูชามีรัฐบาลสองรัฐบาล คือ กัมพูชาประชาธิปไตยของเขมร 3 ฝ่าย และสาธาณรัฐประชาชนกัมพูชาของเฮงสัมริน ซึ่งมีนายฮุนเซน เป็นนายกรัฐมนตรี
ในท้ายที่สุดเมื่อเวียดนามถอนทหารออกไปในปี 2532 ทำให้จีนและไทยรวมไปถึงองค์การสหประชาชาติ หรือยูเอ็น หันไปสนับสนุนเขมร 3 ฝ่าย ก่อนที่จะส่งกองกำลังรักษาสันติภาพ หรือ "อันทาค" เข้าไปแก้ไขปัญหาเจรจาสงบศึกระหว่างเขมรทั้ง 4 ฝ่ายในปี 2534 และจบลงด้วยการจัดการเลือกตั้งทั่วไปตามระบอบประชาธิปไตยในปี 2536 และเจ้านโรดมสีหนุ กลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้ง
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคฟุนซินเป็ค ที่นำโดยเจ้านโรดม รณฤทธิ์ชนะการเลือกตั้ง ทำให้นายฮุนเซน จากพรรคประชาชนกัมพูชาไม่พอใจ และคิดแบ่งแยกดินแดน แต่หลังจากการเจรจาทำให้ทั้งนายฮุนเซน และเจ้ารณฤทธิ์ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคู่กัน จนกระทั่งปี 2541 มีการกำหนดให้มีนายกฯได้คนเดียว ซึ่งนำไปสู่สงครามกลางเมืองระหว่างนายฮุนเซน และเจ้ารณฤทธิ์อีกครั้ง จนกระทั่งกองกำลังของเจ้ารณฤทธิ์พ่ายแพ้ และต้องลดบทบาททางการเมืองของตนลงไป
การเมืองกัมพูชาเข้าสู่ยุคที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อนายฮุนเซน ปกครองประเทศเพียงพรรคเดียวมาตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปี ส่วนฝ่ายค้านหลักๆอย่างนายสม รังสี ก็ไม่สามารถต่อกรได้ ถึงแม้ว่ากัมพูชาจะมีการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่การเมืองก็ยังคงอยู่ในวังวนเดิม และหนทางประชาธิปไตยที่แท้จริงยังคงอีกยาวไกล
by Nattachai
22 กรกฎาคม 2556 เวลา 08:01 น.
No comments:
Post a Comment